นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวแสดงความเห็นต่อผลการศึกษาและร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า
“การจะเปิดกาสิโนสำเร็จหรือไม่นั้น อยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม หากสังคมเชื่อมั่นว่ากาสิโนจะมีความรับผิดชอบ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้เข้าไปเล่นพนัน ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย การคอรัปชั่น และการฟอกเงิน รวมทั้งไม่แสวงหาประโยชน์จากกลุ่มคนเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ติดพนัน และเด็กเยาวชน ก็น่าจะเปิดได้ จึงต้องฝากความหวังไว้ที่ประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ ซึ่งกรรมาธิการมักอ้างอิงเอาสิงคโปร์เป็นต้นแบบ แต่พอเห็นในร่างกฎหมายที่ออกมาเรากลับพบว่ามันไม่ได้ยึดต้นแบบนั้น และมีทีท่าว่าจะเชื่อมั่นไม่ได้ที่จะกำกับดูแลกิจการกาสิโนบนดินได้จริง”
“หลักของสิงคโปร์คือแยกอำนาจเป็นสองฝ่าย ฝ่ายกำกับดูแลการประกอบกิจการกาสิโนด้านหนึ่ง กับฝ่ายดูแลปัญหาและผลกระทบอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายกำกับดูแลต้องกำหนดมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ภายใต้หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสิงคโปร์ขึ้นชื่อในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ร่างกฎหมายของกมธ.นี้กลับเสนอการรวมอำนาจไว้ที่บอร์ดนโยบายหรือซุปเปอร์บอร์ด มีอำนาจในการกำหนดแทบทุกอย่างเกี่ยวกับกาสิโน ภายใต้คนกลุ่มหนึ่งที่มาโดยรัฐบาลทั้งหมด และเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจล้วน ไม่มีแม้กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพม.อยู่ในซุปเปอร์บอร์ดนี้เลย เหมือนการตีเช็คเปล่าให้คนกลุ่มนี้ใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ ขณะที่บอร์ดบริหารที่ประกอบด้วยปลัดกระทรวงต่าง ๆ ที่เป็นข้าราชการประจำ ก็มีหน้าที่เป็นเพียงแม่บ้านทำหน้าที่ในการบริหารจัดการตามคำสั่งของซูปเปอร์บอร์ดเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการถ่วงดุลการตัดสินใจใด ๆ และมีสำนักงาน กธบ.เป็นมือไม้ในการรับไปปฏิบัติ”
“ลองคิดดูว่า รัฐบาลที่เห็นดีเห็นงามกับการมีกาสิโนอยู่แล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากาสิโนจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีหรือที่ซุปเปอร์บอร์ดจะไม่พยายามอุ้มและออกกฎที่เอื้อต่อทุนกาสิโนอย่างเต็มที่ การกำกับดูแลจึงมีแนวโน้มจะเอนเอียงไปทางสนับสนุนมากกว่าควบคุม อีกประเด็นคือ กมธ.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาและลดผลกระทบเลย เห็นได้จากการไม่กำหนดให้มีองค์กรลดผลกระทบจากการพนัน เหมือนอย่างที่สิงคโปร์มี เพียงแต่กำหนดมาตรการที่แผ่วเบา เช่น จำกัดอายุ จำกัดรายได้ และมีเรื่องกองทุนเติมเข้าไปให้ดูดี แต่ไม่มีรูปธรรมของฝ่ายปฏิบัติที่ชัดเจน”
“การจัดรูปองค์กรแบบนี้คล้ายคลึงกับกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ที่ขึ้นรูปองค์กรแบบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ศูนย์กลาง และมีบทบาทที่ทับซ้อน เป็นทั้งฝ่ายหนุนผู้ประกอบการ เป็นทั้งฝ่ายกำกับดูแล และเป็นทั้งฝ่ายดูแลปัญหาและผลกระทบ ซึ่งเป็นการขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ มีที่ไหนที่องค์กรกำกับดูแลจะมาเข้มงวดกวดขันกับกิจการที่ตนสนับสนุนและหวังพึ่ง มีที่ไหนที่ผู้สร้างผลกระทบจะมาทำงานลดผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองสร้าง จึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ การมีกาสิโนมีได้แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่มากพอ และไม่มีความจำเป็นต้องหลบอยู่ใต้เงาของเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ด้วย เพราะพอเอาเรื่องนี้ไปซุกใต้ร่มใหญ่ทำให้ยิ่งออกกฎหมายยากและจะเกิดช่องโหว่เยอะมาก” นายธนากรกล่าว
#มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน