"Gambling Literacy รู้เท่าทันการพนัน"



"Gambling Literacy รู้เท่าทันการพนัน" สำหรับการพนันแล้ว ภูมิคุ้มกันที่สำคัญคงไม่พ้นภูมิความรู้ที่มากเพียงพอที่จะทำให้คนของเรา “รู้เท่าทันการพนัน”
 
 
อาจเป็นความบังเอิญที่พ้องจอง หรือเป็นการพยายามจับแพะชนแกะก็เป็นได้ ที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ 2 เรื่องที่ต่างบริบทกันแต่มีทางออกที่คล้ายคลึงกัน สองเรื่องนี้ก็คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับการขยายตัวอย่างไม่หยุดของการพนัน
ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่โลกไม่สามารถเอาชนะได้เด็ดขาด ตัวอย่างเช่น โรคหวัด ทั้งหวัดเล็กและหวัดใหญ่ และอีกสารพัดหวัด จนมาถึงโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบันอย่างโควิด-19 ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของไวรัสที่มีอัตราการแพร่กระจายที่ค่อย ๆ รวดเร็วขึ้นทุกทีเมื่อเกิดการกลายพันธุ์ จากอัลฟ่า เบต้า เดลต้า แลมบ์ด้า หรือเอ๊บซิลอน ที่ดุดันมากขึ้น ติดง่ายขึ้น ส่งผลรุนแรงขึ้น โดยไม่ต้องฝังตัวนาน
 
ในทำนองเดียวกัน การพนันที่เปรียบได้กับไวรัสก็มีวิวัฒนาการของมัน จากการพนันดั้งเดิมที่คนกันเองชวนกันตั้งวงเล็ก ๆ มาจนการพนันที่มีเจ้ามือเป็นล่ำเป็นสัน จวบจนมาสู่การพนันโดยรัฐ อย่างล็อตเตอรี่ ม้า มวย และอื่น ๆ วิวัฒนาการมาเป็นการพนันที่การพนันทุกชนิดอพยพเข้าสู่โลกออนไลน์
 
แล้วยังจะมี “การพนันอุบัติใหม่” ที่มาในรูปของเกมที่ดูไม่ใช่เกมพนันแต่แท้จริงเป็นการพนัน รวมทั้งการชวนลงทุนสารพัดรูปแบบที่ล้วนเป็นการเสี่ยงโชคในลักษณะของการพนัน
การพนันจึงเปรียบได้กับไวรัส ที่โลกเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะเชื้อร้ายตัวเดิม ๆ เช่นไฮโล โป ปั่น พนันฟุตบอล ฯลฯ แถมยังมีเชื้อร้ายใหม่ ๆ อย่างพนันออนไลน์ที่กำลังกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว กลายเป็นการพนันในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงง่าย เสียเร็ว ติดไว จำพวกบาคาร่า สล็อต ไปสู่พนันแฝงในอินเตอร์เน็ตเกม และการเสี่ยงลงทุนทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ
คำตอบสุดท้ายที่โลกค้นพบในการจะจัดการกับเชื้อร้าย 2 ตัวที่เป็นคนละเรื่องกัน อย่างไวรัสกับการพนัน คือ การต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรของตน เพราะในเมื่อขจัดให้มันหมดไปไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน
 
สำหรับการพนันแล้ว ภูมิคุ้มกันที่สำคัญคงไม่พ้นภูมิความรู้ที่มากเพียงพอที่จะทำให้คนของเรา “รู้เท่าทันการพนัน” รู้ว่าเชื้อพนันทำงานอย่างไรกับตัวเรา ต้องรักษาระยะห่างจากมันอย่างไร จะดูแลรักษาเนื้อรักษาตัวอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ไปติดพนัน และเมื่อตัวเราหรือคนใกล้ตัวเราเข้าไปติดแล้วอาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้อย่างไร และจะรักษาได้อย่างไร มีหมอที่ไหนช่วยรักษาได้บ้าง เหล่านี้เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุดอยู่ที่เด็กเยาวชน เพราะเป็นวัยที่ยังอ่อนต่อโลก ไม่มีภูมิในตนเองที่เข้มแข็งพอ และหากเข้าไปรับเชื้อเข้ามาแล้วอาจมีผลเสียหายต่อชีวิตและอนาคตของพวกเขาได้
 
ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Center for Gambling Studies) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาเนื้อหาและรูปแบบชุดการเรียนรู้ของต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาชุดเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยพบว่า เด็กและเยาวชนควรมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการพนันที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับความสามารถหรือพัฒนาการตามแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา ประกอบด้วยเนื้อหาที่ควรเรียนรู้ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
 
อายุของผู้เรียน สำหรับเด็ก อายุ 8-10 ปี เนื้อหาการเรียน
- นิยามและประเภทของการพนั้น
- ความน่าจะเป็นของการชนะพนัน
- ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการพนัน
- ภัยอันตรายจากการพนัน และปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดพนัน
- สัญญาณการติดพนัน
 
สำหรับเด็ก อายุ 11-14 ปี
- ทักษะที่จำเป็นในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล
และรอบด้าน
- ประสบการณ์ของผู้ติดพนัน
- ผลกระทบด้านลบทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจจากการติดพนัน
- การวิเคราะห์กลยุทธ์การโฆษณาและการตลาดที่เกี่ยวข้อง
กับผลิตภัณฑ์การพนัน
- บริการความช่วยเหลือที่มีให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน
 
สำหรับเด็ก อายุ 15 ปีขึ้นไป
- การมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางของสถานศึกษา
- ในการบริหารจัดการเรื่องการพนัน
- การออกแบบและมีส่วนร่วมในการริเริ่มโครงการป้องกัน
- ภัยอันตรายจากการพนัน
 
ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมอาจจะเป็นการเรียนรู้ในหลักสูตรวิชาการ เช่น เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในวิชาคณิตศาสตร์ หรือแทรกในวิชาสุขศึกษา หรืออาจเป็นการเรียนรู้ในชั่วโมงการแนะแนว ที่ต้องอาศัยการจัดการเรียนรู้โดยคุณครู หรือเป็นการเรียนรู้ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่น ๆ ในช่วงกิจกรรมหลังเรียน รวมถึงเป็นกิจกรรมพิเศษนอกสถานศึกษาก็ได้ เช่น เป็นค่ายกิจกรรมที่จัดโดยอาสาสมัครเยาวชนหรือกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างวาระและบรรยากาศการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป
 
มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ที่มีความถนัดในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า การเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมาก คือการเรียนรู้แบบเล่น ๆ ที่ผสมผสานการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) ให้ผู้เรียนรู้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ผสมกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง (active learning) โดยการจัดสถานการณ์จำลองให้ผู้เรียนได้ประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง ตัดสินใจลงมือทำและรับผลด้วยตนเอง ลองเล่นเอง ได้เอง เสียเอง โดยมีผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) แทนวิทยากร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกระบวนการบรรยายความรู้ให้น้อยที่สุด ถือเป็นการเรียนรู้แบบ “เพลิน” (Play + Learn) ที่เรียนรู้ผ่านเกม หรือสถานการณ์จำลอง หรือการสวมบทบาทสมมติ บนฐานคิดที่สำคัญของการพัฒนาบุคคลเชิงบวก ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคล ว่าสามารถเรียนรู้และค้นพบบทเรียนได้ด้วยตนเอง ที่ไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า “การพนันเป็นสิ่งไม่ดี” แต่ค้นพบความดีและไม่ดีของมันจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตนเอง ซึ่งน่าจะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีความคงทนอยู่ยาวนาน และมีภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า
 
หากตราบใดที่ประชาชนยังรักษาระยะห่างจากการพนันได้ ให้มันเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อการสังสรรค์และบันเทิงแบบมีลิมิต ไม่ต่างจากการซื้อบัตรเข้าดูหนังดูละครหรือดูคอนเสิร์ต เสียแล้วก็เสียไป ละครเลิกหนังเลิกคอนเสิร์ตเลิกเราก็เลิกด้วย อย่างนี้ความเสียหายจากการพนันก็คงไม่เกิด
 
แต่หากวางตำแหน่งของการพนันไว้ผิด โดยคิดว่าการพนันเป็นช่องทางการหารายได้ อย่างหวังร่ำหวังรวยจากการพนัน โอกาสจะถลำลึกจนเข้าไปติดเชื้อพนันก็มีความเป็นไปได้สูง
ถ้าประเทศไทยคิดว่า การพนันเป็นเชื้อร้ายชนิดหนึ่งที่แม้จะฆ่าไม่ได้แต่ต้องคุมมันให้ได้แล้ว ก็ถึงเวลาต้องพัฒนาวัคซีนกันอย่างจริงจัง เพราะการปล่อยให้กลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จะยิ่งนับวันทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นไปทุกที
.