10 เรื่องที่ซ่อนอยู่ในเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์
1. อำนาจอยู่ในมือเราไม่กี่คน ... อยากได้แบบไหนบอกมา
ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้มีซุปเปอร์บอร์ด 5 ถึงไม่เกิน 9 คน มีนายกฯเป็นประธาน พร้อมรองนายกฯ 1 คน และรมว.คลัง-ท่องเที่ยว-และมหาดไทย บวกผู้ทรงที่นายกฯแต่งตั้งได้ไม่เกิน 4 คน มีอำนาจมากมายในการกำหนดความเป็นไปของกาสิโน จะให้ตั้งที่ไหน ขนาดเท่าไร มีพนันอะไรได้บ้าง ให้ใครมาลงทุน เงื่อนไขความรับผิดชอบของผู้ลงทุน และอื่น ๆ
(มาตรา 6 และมาตรา 13 : ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 114-115)
2.เตรียม Super License เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มทุนจากต่างประเทศ
ซุปเปอร์บอร์ดสามารถใช้อำนาจในการออก Super License -ใบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ แบบขอทีเดียวได้รับการอนุญาตครบทุกอย่าง ทั้งกาสิโน และอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจแก่กลุ่มทุน โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากต่างประเทศ สัญญา 20 ปีเท่านั้นเอง หลังจากนั้นค่อยต่อทีละ 5 ปี
(รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 85)
3.ใครว่าจะมีแบบเดียว ขนาดเดียว หรือที่เดียว
คนไทยจำนวนหนึ่ง อาจกำลังมีความฝันอยากเห็นประเทศไทยมีเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ใหญ่โต สัก 1-2 แห่ง เป็นหน้าเป็นตาของประเทศเหมือนประเทศอื่น แต่รู้หรือไม่ว่าข้อเสนอของกมธ. ให้มีกาสิโนหรือบ่อนพนันได้หลายขนาด หลายพื้นที่ ทั้งขนาดใหญ่มาก ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของซุปเปอร์บอร์ด 5-9 คน ... ยิ่งเข้ามาอยู่ใกล้ชุมชน ทีนี้ล่ะว้าวุ่นเลย
(รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 92)
4.พนันออนไลน์ก็ได้นะ ทำไมต้องมีแค่บ่อนบนดิน
สถานบันเทิงครบวงจรสามารถเปิดธุรกิจกาสิโนหรือพนันออนไลน์ได้ด้วย (ทั้งกาสิโนออนไลน์ พนันกีฬาออนไลน์ ลอตเตอรี่ออนไลน์ ทายผลเหตุการณ์ออนไลน์ เช่น ทายผลเลือกตั้ง ทายว่าวันนี้ฝนตก-แดดออกอย่างไร เป็นต้น รวมทั้งการทายผลการซื้อขายหุ้น สกุลเงิน ไปจนถึงเกมออนไลน์อีสปอร์ต
(รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 95)
5.ยุคนี้ Soft Power ต้องไม่พลาด
ควรพิจารณาถึงการละเล่นใดที่เป็นกีฬาและการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่จะต้องส่งเสริมและรักษาไว้ เช่น มวยไทย ปลากัด ชนไก่ ชนวัว หรือกีฬาพื้นบ้านอื่น ๆ เป็น Soft Power เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของประเทศไทย
(รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 96)
6.ใครก็ได้ไม่ต้อง Hi End ... พี่ไทยใจเย็น ๆ เดี๋ยวให้เข้า
การเปิดให้เล่นการพนันโดยถูกกฎหมายในกาสิโน ควรกำหนดคุณสมบัติเพื่อควบคุมผู้เล่นที่เป็นคนไทยให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง หากกำหนดคุณสมบัติเข้มงวดมากเกินไป จะทำให้คนไทยไปเล่นการการพนันต่างประเทศ
(รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 97)
7.บทลงโทษแค่เบา ๆ … เราจะกลัวมั้ยเนี่ย
o ผู้รับใบอนุญาตที่ปล่อยปละละเลยให้บุคคลที่อายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่ถูกสั่งห้าม ต้องเสียค่าปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
o ผู้รับใบอนุญาตที่ปล่อยปละละเลยไม่มีการควบคุมการเข้าออก ไม่มีเขตบริเวณที่ชัดเจน ต้องเสียค่าปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
o ผู้รับใบอนุญาตที่ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการพนันในกาสิโน ต้องเสียค่าปรับไม่เกินห้าแสนบาท
(มาตรา 53,54,67,68,69 : ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร หน้า 128,131)
8.ไหนว่าจะมีหน่วยงานกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือแบบสิงคโปร์
ในบทสรุปผู้บริหารกล่าวว่า ต้องมี Gambling Commission ที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่าง เช่น GRA : Gambling Regulatory Authority ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและ National Council on Problem Gambling (NCPG) ที่เป็นหน่วยงานด้านการควบคุมและลดผลกระทบจากการพนันแบบประเทศสิงคโปร์ แต่ไหงไปรวมอำนาจอยู่ที่ซุปเปอร์บอร์ด 5-9 คน ดูทุกเรื่องทั้งการอนุญาต ทั้งการกำกับควบคุม ทั้งการดูแลผลกระทบ ทำทุกบทบาทอย่างนี้ถูกหลักหรือ?
(รายงานกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร : บทสรุปผู้บริหาร หน้า ซ-ญ)
9.จริงหรือกาสิโนจะช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจ?
งานศึกษาของ ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร พบว่า กาสิโนอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในระยะสั้น ๆ แต่ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ในทางกลับกันกาสิโนกลับทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า
(ความเห็นทางวิชาการเสนอต่อกมธ.สถานบันเทิงครบวงจร
โดย ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล 25 มีนาคม 67 )
10.ถ้าเดินทางนี้ช้า เรามีทางลัดให้
ใครก็รู้ว่าการจะออกพ.ร.บ.ได้แต่ละฉบับต้องใช้เวลานานพอสมควร คงไม่ง่ายนะที่กฎหมายฉบับนี้จะคลอดได้เร็ว ๆ เพราะฉะนั้น การใช้วิธีไปเปิดกาสิโนภายใต้ร่มบังของคำว่า “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เพื่อให้ดูแกรนด์มากขึ้น และดูไม่ใช่ธุรกิจสีเทา โดยอาศัยช่องทางพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก็ทำได้ โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ อาศัยมติครม.ชุดที่แล้วที่เปิดทางให้พื้นที่นี้สามารถเปิดบริการสันทนาการได้ 24 ชั่วโมง โดยละเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางประการ เพราะเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่นอกประเทศ ภายใต้การดูแลจัดการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แค่นี้ก็ได้แล้ว …. ฉลุย
(มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 สิงหาคม 2565)